อยู่ๆก็มีเรื่องราวให้นอนไม่หลับ
เชื่อได้ว่าหลายคนที่เลื่อนผ่านโพสต์นี้ อาจจะเคยหรือกำลังเผชิญกับอาการเหล่านี้ ซึ่งถ้าหากว่าท่านมีอาการใดในข้อเหล่านี้ นั่นหมายความว่า ท่านกำลังจะเข้าข่าย “โรคนอนไม่หลับ”
โรคนอนไม่หลับคืออะไรกันนะ ?
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ อาการที่ไม่สามารถหลับได้ตามเวลานอนปกติ หลับไม่สนิท นอนหลับยาก ใช้เวลานอนนานกว่า 20 นาทีถึงจะหลับได้ ฝันเยอะ ตื่นมาแล้วเพลีย ไม่สดชื่น ซึ่งอาการนอนไม่หลับนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่นอนหลับๆตื่นๆ หรือตื่นขึ้นมาแล้วนอนหลับต่อไม่ได้อีก ตาค้าง จนถึงนอนไม่หลับทั้งคืนจนฟ้าสว่าง
โรคนอนไม่หลับเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ?
โรคนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วโลก พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย จากการศึกษาจะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับได้ถึง 1/3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 ต่อ 1 และพบบ่อยขึ้นตามอายุ
ทำไมคนยุคนี้ถึงนอนไม่หลับกัน ?
สาเหตุหลักๆที่พบบ่อย ได้แก่
- ภาวะทางจิตใจ เช่น ปัญหาความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า
- การดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรือนิโคติน รวมไปถึงการใช้ยาหรือสารบางอย่าง เช่นยาแก้หวัด, ยากลุ่ม Pseudoephedrine, ยาลดน้ำหนัก, ยาแก้หอบหืด, ยาต้านซึมเศร้า, ยากลุ่ม Methylphenidate
- ภาวะเจ็บป่วยทางกาย หรือคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคหอบหืด โรคต่อมไทรอยด์มีความผิดปกติ โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น การกระตุกของแขนหรือขาระหว่างหลับจนเกิดการรบกวนการนอน เป็นต้น
นอกจากนี้ภาวะปวดตามร่างกาย, เหนื่อย, กรดไหลย้อน, การที่ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ สาเหตุข้อนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ภาวะการตั้งครรภ์, หมดประจำเดือน ยังมีผลต่อการนอนไม่หลับอีกด้วย
การนอนไม่หลับ ในมุมมองทางการแพทย์แผนจีนเป็นอย่างไร ?
สาเหตุของการนอนไม่หลับ (不寐)เกี่ยวข้องกับอาหาร อารมณ์ การทำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งจะทำให้*เสินหัวใจถูกรบกวน หรือเสินหัวใจขาดการหล่อเลี้ยง และเมื่อเสินหัวใจไม่สงบ ส่งผลทำให้หยินหยางและอิ๋งเว่ยไม่สมดุล หยางไม่เข้าสู่หยิน จนทำให้นอนไม่หลับนั่นเอง ซึ่งสรุปสาเหตุหลักๆมี 3 ข้อ ได้แก่
- ร่างกายเสียความสมดุลระหว่างหยินและหยาง
- ร่างกายเสียความสมดุลระหว่างชี่และเลือด
- ความผิดปกติจากอวัยวะภายใน
โดยหลักการรักษา คือ ปรับสมดุลหยินหยาง สงบเสิน ช่วยให้นอนหลับได้
(*เสิน หมายถึงสมอง จิตใจ จิตวิญญาณ รวมทั้งการแสดงออกต่างๆของร่างกาย)
แพทย์แผนจีน จะรักษาอาการนอนไม่หลับได้อย่างไร ?
ก่อนอื่นแพทย์จะทำการตรวจโรคและวินิจฉัยในกลุ่มอาการนอนไม่หลับ ตามหลักการแพทย์แผนจีน จากนั้นจะทำการรักษาด้วยการฝังเข็มตามแนวเส้นลมปราณ หรือจ่ายสมุนไพรจีนเพื่อปรับสมดุลร่างกาย ตามความเหมาะสมรายบุคคล
“ไม่อยากใช้ยานอนหลับ” “เครียดนอนไม่หลับ” ลองมาฝังเข็มช่วยได้นะ
ในปี พ.ศ. 2545 องค์การอนามัยโรค (WHO) ได้สรุปผลงานวิจัยและรองรับว่า “การฝังเข็มรักษาภาวะนอนไม่หลับได้ผลที่ดีอย่างชัดเจน” สามารถช่วยปรับหยินหยาง ชี่และเลือด รวมถึงการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายให้กลับมาสู่สภาวะสมดุล อีกทั้งการฝังเข็มยังสามารถช่วยปรับสภาพจิตใจ คลายความวิตกกังวลและความเครียด ทำให้จิตใจผ่อนคลายขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยเหลือทางด้านจิตใจได้อีกทางหนึ่งด้วย จากงานวิจัยหลายสถาบันพบว่า “การฝังเข็มช่วยให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับการทานยานอนหลับ” ซึ่งประโยชน์ของการฝังเข็มเรื่องนอนไม่หลับ ได้แก่
- เพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ในร่างกาย ทำให้การนอนหลับดีขึ้น
- กระตุ้นการหลั่งของสารเอนโดฟิน (Endorphin) ทำให้ร่างกายผ่อนคลายได้มากขึ้น
- เพิ่มการหลั่งของไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ซึ่งช่วยในการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
- ลดการกระตุ้นของ Sympathetic Nervous System เพื่อหยุดการตื่นเต้น และทำให้ร่างกายผ่อนคลายขึ้น
- ปรับสมดุลของสารเคมีต่างๆในสมอง ที่เกี่ยวกับอารมณ์ต่างๆได้ เช่น Serotonin, Dopamine, Noradrenaline, GABA, Neuropeptides etc.
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า “การฝังเข็มร่วมกับการทานยานอนหลับ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและฤทธิ์ของยานอนหลับให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”
เคล็ดลับการนอนหลับให้มีคุณภาพดีขึ้น (Sleep Hygiene)
- ควรเข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาเป็นประจำให้เป็นระบบ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงบ่าย-เย็น หรืออย่างน้อย 6 ชม. ก่อนการนอน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนนอน
- ไม่ควรดื่มน้ำมากกว่า 1 แก้วก่อนนอน และแนะนำให้ปัสสาวะก่อนเข้านอน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ วันละอย่างน้อย 30 นาที โดยแนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิคช่วงเช้า *ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน 2 ชั่วโมง*
- จัดสภาพแวดล้อมของห้องนอนให้เงียบสงบเหมาะสม ไม่สว่างเกินไป ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป
- ก่อนนอน 1 ชั่วโมง ควรผ่อนคลาย เช่นฟังเพลงสบายๆ, อ่านหนังสือ, นั่งสมาธิ, ทำกิจกรรมเบาๆ ที่ทำให้ไม่ตื่นเต้นและไม่เครียด
- ไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นเต้นก่อนนอน เช่นเล่นโทรศัพท์ ดูโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ที่มีความตื่นเต้น
- ไม่ควรทานอาหารมื้อใหญ่ อย่างน้อย 4 ชม. ก่อนการนอน
- สามารถนอนงีบได้ในเวลากลางวัน โดยงีบไม่เกิน 20 นาที และไม่ควรงีบหลับหลังบ่ายสามโมง
การนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพในเวลากลางคืน เป็นพื้นฐานที่สำคัญของการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ช่วยส่งเสริมให้มีระบบความจำที่ดีขึ้น และยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมและโอกาสเสียชีวิตได้อีกด้วย ดังนั้นภาวะนอนไม่หลับจึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรปล่อยไว้ ควรหาสาเหตุและรีบเข้ารับการรักษาหรือป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียกับระบบอื่นๆของร่างกายในระยะยาวตามมา
การฝังเข็มตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่รักษาภาวะนอนไม่หลับได้ นอกจากนี้ควรควบคู่กับการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ปรับเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นระบบ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณพอเหมาะ และที่สำคัญคือปรับอารมณ์และจิตใจให้ผ่อนคลายร่วมด้วย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของทุกคนต่อไป…
บทความโดย
แพทย์จีนแพรววดี อรุณแจ้งวัฒนะ (พจ.1681)
หมอแพรว
สาขา รังสิต-คลองสี่
สำหรับผู้ที่สนใจฝังเข็มเพื่อรักษาอาการรองช้ำ ปวดฝ่าเท้า ปวดส้นเท้า ท่านสามารถเข้ามาปรึกษา และวางแผนการรักษาได้ที่ปิยชาติคลินิก ทั้ง 3 สาขาใกล้บ้านท่าน
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Add Line : https://line.me/R/ti/p/%40piyachartclinic
#ออฟฟิศซินโดรม #ปวดตึงคอบ่าไหล่ #officesyndrome #ปวดหลังร้าวลงขา #Dryneeding #นอนไม่หลับ #ปวดหัว #ไมเกรน #ปวดหัวข้างเดียว #ปวดศรีษะ #headaches #migraine #ฝังเข็ม #acupunture #ปิยชาติคลินิก #รัตนาธิเบศร์ #บางบัวทอง #นนทบุรี #ฝังเข็มปทุมธานี #ฝังเข็มรังสิต #ฝังเข็มกรุงเทพ #ฝังเข็มนนทบุรี #ฝังเข็มไมเกรน #ฝังเข็มปวดหัวข้างเดียว #ครอบแก้ว #cupping #ฝังเข็มหน้าใส #ฝังเข็มลดน้ำหนัก #ฝังเข็มสิว #สิว
บทความที่เกี่ยวข้อง